วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

91-100

๙๑. ข้อใดเป็นเจตนาของผู้แต่งคำประพันธ์ต่อไปนี้
อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ  ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก  จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย
        ๑. สอนให้รู้จักเลือกใช้อาวุธและสติปัญญาให้ถูกเวลา
        ๒. สอนเรื่องการใช้สติปัญญาและความรู้ให้ถูกจังหวะ
        ๓. แนะนำวิธีการใช้อาวุธให้เกิดผลดีตามความปรารถนา
        ๔. แนะนำวิธีการเก็บอาวุธเพื่อให้คมกริบเหมือนมีสติปัญญาอยู่เสมอ
เหตุผล ข้อ ๒ “ความคิด” และ “วิทยา” ในวรรคที่ ๑ หมายถึง การใช้สติปัญญาและความรู้ ซึ่งควรใช้ให้ถูกจังหวะ
            ข้อ ๑ คำว่า อาวุธ ใช้เป็นคำเปรียบเท่านั้น
            ข้อ ๓ ไม่ได้กล่าวถึงการใช้อาวุธ
            ข้อ ๔ ไม่ได้กล่าวถึงการเก็บรักษาอาวุธ
ใช้คำประพันธ์ต่อไปนี้ตอบคำถาม ข้อ ๙๒ - ๙๓

๑. อันผัวพี่ดีเหลือเป็นเนื้อหน่อ  เห็นต่อจะบุญหนักศักดิ์ใหญ่
 รูปร่างน้อยจ้อยอร่อยใจ  จงกอดไว้เถิดคะอย่าละวาง
๒. เออคะกระนั้นและจริงอยู่  รูปร่างผัวกูไม่สู้เหมาะ
 ที่ไหนจะงามพร้อมเหมือนหม่อมเงาะ  ใครเห็นก็หัวเราะว่ารูปงาม
๓. ถึงพี่จะรุ่งเรืองไปเบื้องหน้า  ก็ไม่พึ่งวาสนาอย่าอวดอ้าง
ดีแต่จะมาพานรานทาง ไม่อดสูใจบ้างหรืออย่างไร
๔. จึงออกมาว่ากับลูกสาว  ช่างทำความงามฉาวอีคนชั่ว
เสียยศเสียศักดิ์ไม่รักตัว  เลือกผัวได้เงาะเห็นเหมาะใจ

๙๒. ข้อใด ไม่มี น้ำเสียงประชด
         ๑. ข้อ ๑
         ๒. ข้อ ๒
         ๓. ข้อ ๓
         ๔. ข้อ ๔
เหตุผล ข้อ ๓ เป็นการต่อว่า
             ข้อ ๑ มีน้ำเสียงประชด เช่นคำว่า บุญหนักศักดิ์ใหญ่
             ข้อ ๒ มีน้ำเสียงประชด เช่นคำว่า ที่ไหนจะงามพร้อม
             ข้อ ๔ มีน้ำเสียงประชด เช่นคำว่า เหมาะใจ
๙๓. ข้อใด ไม่ได้ กล่าวถึงบุคคลที่ ๓
       ๑. ข้อ ๑
       ๒. ข้อ ๒
       ๓. ข้อ ๓
       ๔. ข้อ ๔
เหตุผล บุรษสรรพนาม  คือ  คำ  สรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด  แบ่งเป็นชนิดย่อยได้  3  ชนิด  คือ
               ๑.๑  สรรพนามบุรุษที่ ๑  ใช้แทนตัวผู้พูด  เช่น  ผม  ฉัน  ดิฉัน  กระผม  ข้าพเจ้า  กู  เรา  ข้าพระพุทธเจ้า  อาตมา  หม่อมฉัน  เกล้ากระหม่อม
               ๑.๒  สรรพนามบุรุษที่ ๒  ใช้แทนผู้ฟัง  หรือผู้ที่เราพูดด้วย  เช่น  คุณ  เธอ  ใต้เท้า  ท่าน  ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  ฝ่าพระบาท  พระคุณเจ้า
               ๑.๓  สรรพนามบุรุษที่ ๓  ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง  เขา  มัน  ท่าน  พระองค์ 
ดังนั้น ข้อ ๓ มีบุรุษสรรพนามเพียงคำเดียวคือ “พี่” ซึ่งเป็นบุคคลที่ ๑
            ข้อ ๑ ผัวพี่ เป็นคำที่กล่าวถึงบุคคลที่ ๓
           ข้อ ๒ ผัวกู หม่อมเงาะ เป็นคำที่กล่าวถึงบุคคลที่ ๓
            ข้อ ๔ ผัว เป็นคำที่กล่าวถึงบุคคลที่ ๓
๙๔. ข้อใดมีถ้อยคำแสดงอารมณ์ของตัวละคร
        ๑. ครั้นอ่านสารเสร็จสิ้นพระทรงฤทธิ์ ถอนฤทัยแล้วคิดสงสัย
        ๒. บุษบาจะงามสักเพียงไร จึงต้องใจระตูทุกบุรี
        ๓. เชิญเสด็จคลาไคลไปก่อน แล้วจึงค่อยผันผ่อนมากรุงศรี
        ๔. แม้นงามเหมือนจินตะหราวาตี ถึงจะเสียชีวีก็ควรนัก
เหตุผล ข้อ ๑ คำว่า ถอนฤทัย = ถอนใจ เป็นการแสดงอารมณ์หนักใจ
            ข้อ ๒ เป็นความสงสัยว่าบุษบางามเพียงใดเท่านั้น
            ข้อ ๓ กล่าวถึงการเชิญเสด็จไปแล้วกลับมายังกรุงศรี
            ข้อ ๔ เป็นคำรำพึงว่าถ้านางงามมากก็สมควรเอาชีวิตเข้าแลก
๙๕. ข้อใดตีความได้ตรงกับข้อความต่อไปนี้
ลาภยศถาบรรดาดีที่มีอยู่  รวยเลิศหรูอยู่เรือนทองสองล้านสาม
สมบัติมากลากไม่ไหวใครจะปราม  สุดท้ายหามแต่ร่างเน่าเท่านั้นเอง
        ๑. บางคนโชคดีได้ลาภยศและเงินทองโดยไม่มีใครขวางได้
        ๒. คนเราไม่ควรโลภมากเอาแต่ตักตวงความร่ำรวย ในที่สุดก็แบกไม่ไหว
        ๓. สมบัติทั้งหลายไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน มีความเปลี่ยนแปรอยู่เสมอ
        ๔. คนเราเมื่อถึงคราวตายก็เอาเกียรติยศและทรัพย์สินติดตัวไปไม่ได้
เหตุผล ข้อ ๔ วรรคสุดท้ายกล่าวถึงความตายที่เอาอะไรไปไม่ได้
            ข้อ ๑ เป็นความหมายของวรรคที่ ๑-๓ เท่านั้น
            ข้อ ๒ ไม่ได้กล่าวถึงความตายซึ่งเป็นจุดจบของทุกสิ่ง
            ข้อ ๓ กล่าวถึงเฉพาะสมบัติว่าไม่ยั่งยืน
๙๖. ข้อใด ไม่ได้ กล่าวถึงในคำประพันธ์ต่อไปนี้
ชนใดมีชาติเชื้อ  เลวทราม
เพียรอุตส่าห์พยายาม  หมั่นหมั้น
อยู่บดอยู่ฝนความ   รู้แก่ เกินแฮ
กลับยศใหญ่ยิ่งชั้น   เช่นเชื้อผู้ดี
       ๑. คนเราควรตั้งอยู่ในความขยันหมั่นเพียร
       ๒. การแสวงหาความรู้เป็นประจำนำไปสู่ความสำเร็จ
       ๓. คนนิสัยเลวอาจเปลี่ยนกลับกลายเป็นคนนิสัยดีได้
       ๔. คนที่มีกำเนิดต่ำอาจพัฒนาจนเปลี่ยนสถานภาพให้สูงขึ้นได้
เหตุผล ข้อ ๓ ในโคลงบทนี้ไม่ได้กล่าวถึงการที่คนเลวเปลี่ยนเป็นคนดี
            ข้อ ๑ บาทที่ ๒ กล่าวถึงความเพียร
            ข้อ ๒ บาทที่ ๒, ๓, ๔ กล่าวถึงการพยายามหาความรู้ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ
            ข้อ ๔ บาทที่ ๔ กล่าวถึงการเปลี่ยนสถานภาพ
๙๗. คำประพันธ์ในข้อใดกล่าวถึงสิ่งที่แสดงวัฒนธรรมไทย
        ๑. ยาตรยาตรบาทห่อนกระชั้น                ช่วงเท้าเทาเสมอ
        ๒. แก้วก่องทองสลับล้วน  ร่วงรุ้งเรืองแสง
        ๓. แห่อยู่สองข้างเข้า  คู่คล้อยเคียงไคล
        ๔. บังแทรกสองคู่สล้าย  สลับริ้วฉัตรเรียง
เหตุผล ข้อ ๔ บังแทรกและฉัตร เป็นเครื่องสูงของเจ้านายในวัฒนธรรมไทย
            ข้อ ๑, ๒, ๔ ไม่มีคำใดแสดงวัฒนธรรมไทย
๙๘. คำประพันธ์ในข้อใด ไม่ แสดงความเชื่อของคนไทย
        ๑. ชาตินี้มึงมีแต่สองหัตถ์       จงไปอุบัติเอาชาติใหม่
        ๒. ถ้าวาสนาเราเคยบำรุงรัก      ก็จะเป็นภักษ์ผลสืบไป
        ๓. กรรมเวรสิ่งใดดังนี้      ทูลพลางโศกีรำพัน
        ๔. จะได้รองเบื้องบาทา       ไปกว่าจะสิ้นชีวี
เหตุผล ข้อ ๔ “จะอยู่รับใช้ไปจนกว่าจะตาย” ไม่ได้แสดงความเชื่อใดๆ
            ข้อ ๑ “เกิดชาติใหม่” เป็นความเชื่อของคนไทย
            ข้อ ๒ “วาสนา” เป็นความเชื่อของคนไทย
            ข้อ ๓ “กรรมเวร” เป็นความเชื่อของคนไทย
๙๙. ข้อใดมีชื่อดอกไม้มากที่สุด
       ๑. ชมสร้อยฟ้าสารภียี่สุ่นเทศ
       ๒. พิกุลบุนนาคนมสวรรค์
       ๓. กิ่งกาหลงชงโคมะลิวัลย์
       ๔. เกดแก้วจำปามหาหงส์
เหตุผล ข้อ ๔ ชื่อดอกไม้ = เกด, แก้ว, จำปา, มหาหงส์ รวม ๔ ชื่อ
            ข้อ ๑ ชื่อดอกไม้ = สร้อยฟ้า, สารภี, ยี่สุ่นเทศ รวม ๓ ชื่อ
            ข้อ ๒ ชื่อดอกไม้ = พิกุล, บุนนาค, นมสวรรค์ รวม ๓ ชื่อ
            ข้อ ๓ ชื่อดอกไม้ = กาหลง, ชงโค, มะลิวัลย์ รวม ๓ ชื่อ
๑๐๐. ข้อใด ไม่ได้ กล่าวถึง “ช้าง”
         ๑. งามเร่งงามโทท้าว  ท่านสู้ศึกสาร
         ๒. สารทรงราชรามัญ  ลงล่าง แลนา
         ๓. ไพเราะราชสุภา                ษิตสื่อ สารนา
         ๔. ตรึกอกพกตกขว้ำ  อยู่เบื้องบนสาร
เหตุผล ข้อ ๓ “สาร” ในข้อนี้หมายถึง “ข้อความ”
            ข้อ ๑, ๒, ๔     “สาร” ในข้อนี้แปลว่า “ช้าง”

81-90

๘๑. ข้อใดเหมาะจะเติมลงช่องว่างในโคลงสองสุภาพ ๒ บทนี้
ของคาวพลันเสพแล้ว ยามสุริยาเคลื่อน.....(ก).......ลับไม้หมดศรี
ของหวาน.....(ข).....ลูกไม้ หลายสิ่งเสาะหาได้แต่ล้วนอย่างดี นักนอ
        ๑. (ก) คล้อย (ข) นี่
        ๒. (ก) ที่ (ข) พาน
        ๓. (ก) คลาด (ข) เป็น
        ๔. (ก) แคล้ว (ข) มี
เหตุผลข้อ ๔ (ก) แคล้ว ซึ่งสัมผัสกับคำ แล้ว ในวรรคที่ ๑ และเป็นคำโท (ข) มี ซึ่งสัมผัสกับคำ ศรี ในบทที่๑
            ข้อ ๑ (ก) คล้อย ไม่รับสัมผัสกับวรรคที่ ๑ (ข) นี่ สัมผัสกับคำ ศรี ในบทที่ ๑ แต่ถูกเพียงคำเดียว
            ข้อ ๒, ๓ ไม่รับสัมผัสเลย
๘๒. ข้อความต่อไปนี้เมื่อจัดวรรคถูกต้องตามฉันทลักษณ์จะเป็นคำประพันธ์ชนิดใด
เสด็จพ้นทวาเรศข้ามคูเวียงหวั่นฤทัยท่านเพียงจักว้าพระองค์ก็อ่อนเอียงเอน
อาสน์อกระรัวมัวหน้าสั่นส้านเสียวแสยง
        ๑. โคลง
        ๒. กลอน
        ๓. ฉันท์
        ๔. ร่าย
เหตุผล ฉันทลักษณ์ หมายถึง ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย ซึ่งกำชัย ทองหล่อให้ความหมายไว้ว่า ฉันทลักษณ์ คือตำราที่ว่าด้วยวิธีร้อยกรองถ้อยคำหรือเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามลักษณะบังคับและบัญญัติที่นักปราชญ์ได้ว่างเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้นตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า คำประพันธ์[1] และได้ให้ความหมายของ คำประพันธ์ คือถ้อยคำที่ได้ร้อยกรองหรือเรียบเรียงขึ้น โดยมีข้อบังคับ จำกัดคำและวรรคตอนให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์ โดยแบ่งเป็น 7 ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล ซึ่งก็คือ ร้อยกรองไทยนั่นเอง
ข้อ ๑ เป็นโคลงตามรูปแบบนี้
เสด็จพ้นทวาเรศข้าม           คูเวียง
หวั่นฤทัยท่านเพียง  จักว้า
พระองค์ก็อ่อนเอียง  เอนอาสน์
อกระรัวมัวหน้า  สั่นส้านเสียวแสยง
๘๓. คำกล่าวในข้อใดไม่ต้องการคำตอบจากคู่สนทนา
        ๑. นี่ลูกเต้าของใครได้ไหนมา ดูหน้าตายิ้มย่องผ่องแผ้ว
        ๒. ยังเล็กนักได้สักกี่เดือนแล้ว ลูกแก้วจงแถลงแจ้งกิจจา
        ๓. ใครแกงฟักขึ้นมาเวลานี้ ไปหาตัวมานี่อย่าได้ช้า
        ๔. ถ้าหนุ่มแน่นแม้นเหมือนแต่ก่อนไซร้ จะเกรงกลัวอะไรกับไพรี
เหตุผล ข้อ ๔ คำว่า “อะไร” ในที่นี้ไม่ใช่คำถาม (ไม่ใช่ปฤจฉาสรรพนาม) แต่เป็นอนิยมสรรพนาม
            ข้อ ๑ ต้องการคำตอบว่าลูกใคร และได้มาจากไหน
            ข้อ ๒ ต้องการคำตอบว่าอายุเท่าไร
            ข้อ ๓ ต้องการคำตอบว่าใครเป็นคนแกง
๘๔. ข้อใดใช้สัมผัสเพียงชนิดเดียว
        ๑. พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง
        ๒. งามประหลาดเลิศล้ำเลขา
        ๓. อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์
        ๔. ดังกินรีลงสรงคงคาลัย
เหตุผล  คำสัมผัส หมายถึง คำที่ออกเสียงคล้องจองกัน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. สัมผัสสระ และ ๒. สัมผัสพยัญชนะ หรือสัมผัสอักษร  ดังนั้น  ข้อ ๒ มีเฉพาะสัมผัสพยัญชนะ คือ (ประ)หลาด-เลิศ-ล้ำ-เล(ขา) ข้อ ๑ มีสัมผัสพยัญชนะ คือ ปลั่ง-เปล่ง มีสัมผัสสระ คือ น้อง-(ละ) ออง                                                       ข้อ ๓ มีสัมผัสพยัญชนะ คือ อร-อ้อน-แอ้น-อิน(ทรีย์) มีสัมผัสสระ คือ ชร-อ้อน                                           ข้อ ๔ มีสัมผัสพยัญชนะ คือ คง – คา มีสัมผัสสระคือ ลง - สรง

๘๕. ข้อใดมีลักษณะเป็นบทรำพันนิราศอย่างเห็นได้ชัด
         ๑. ชมพนมพนาเวศห้วย เหวหิน
         ๒. ทุกเซาะซอกศีขริน ร่องน้ำ
         ๓. จักชวนแม่สรงสินธุ์ แสนสนุก
         ๔. สนานอุทกท่าถ้ำ เถื่อนท้องแถวธาร
เหตุผล นิราศ หมายถึง งานประพันธ์ประเภทหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน นิราศเรื่องแรกของไทยนั้น ได้แก่ โคลงหริภุญชัย ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา นิราศนั้น มักมีเนื้อหาในเชิงพรรณนาถึงการเดินทางเป็นหลัก มักจะเล่าถึงเส้นทาง การเดินทาง และบอกเล่าถึงสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง ขณะเดียวกัน มักจะสอดแทรกความคิด ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางนั้น โดยมักจะเชื่อมโยงสิ่งที่พบเห็นกับความรู้สึกภายใน ผู้แต่งนิราศ มักจะใช้คำประพันธ์แบบร้อยกรองเป็นหลัก แต่นิราศที่แต่งด้วยร้อยแก้วก็มีอยู่บ้างเช่นกัน อนึ่ง คำว่า นิราศ มีความหมายตามตัวอักษรว่า จาก พราก ไปจาก ฯลฯ แต่นิราศอาจหมายถึงงานประพันธ์ที่พรรณนาถึงเหตุการณ์ตามลำดับ พร้อมทั้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นๆ โดยมิได้มีการเดินทาง หรือการพลัดพรากก็ได้
ดังนั้น ข้อ ๓ มีการกล่าวถึงนางซึ่งกวีจากมา ซึ่งเป็นลักษณะของนิราศ
          ข้อ ๑, ๒ เป็นการชมธรรมชาติเท่านั้น
          ข้อ ๔ เป็นการกล่าวถึงการอาบน้ำในลำธารในป่า

๘๖. ข้อใดไม่ใช้ภาพพจน์
๑. หนึ่งส้มเทพรส  หวานปรากฏรสแนบเนียน
  ส้มเหม็นหล่นอาเกียรณ์  เปลือกบางอ่อนหนอนชอบใจ
๒. อย่างหนึ่งส้มสันดาน  หมอใช้การยาสำคัญ
เรียกชื่อส้มเหมือนกัน  กินบได้ใช้ทำยา
๓. ส้มหนึ่งสีผิวเหลือง  มาแต่เมืองตรังกานู
 รสชาติก็พอดู  รสสนิทหวานปานตาลชิม
๔. พรรณหนึ่งเรียกส้มจุก  ผลห่ามสุกดูสลอน
เปลือกบางคิดบังอร   โฉมแบบบางร่างอย่างเขียน
เหตุผล ภาพพจน์   มากจากคำว่า ภาพ+ พจน์ (ถ้อยคำ) หมายถึง    การใช้ถ้อยคำให้เกิดมโนภาพ
 โดยใช้ภาษาในแบบต่าง ๆ อย่างมีศิลปะ ดังนี้
๑   อุปมา (เหมือน ดุจ ดั่ง ราว)
๒   อุปลักษณ์  ( เป็น คือ )
๓. สัญลักษณ์ ( สีขาว แทน ความบริสุทธิ์)
บุคลาธิษฐาน/บุคคลวัต/บุคคลสมมุติ
(สิ่งอื่นมาแสดงอาการมนุษย์)
๕. อติพจน์/อธิพจน์(มากเกินจริง) , อวพจน์ (น้อยเกินจริง)
๖. อรรถวิภาษ/ปฏิพากย์/ปรพากย์ (คำตรงข้าม)
๗. สัทพจน์ (เลียนเสียงธรรมชาติ)
๘. นามนัย (สิ่งที่เกี่ยวข้องกันให้มีความหมายแฝง)
ดังนั้น ข้อ ๒ คำว่า “เหมือน” ในที่นี้ไม่ใช่คำที่ใช้ในภาพพจน์เปรียบเทียบ
           ข้อ ๑ ชอบใจ เป็นอาการของคน เมื่อใช้กับ หนอน ถือเป็นบุคคลวัต
           ข้อ ๓ ปานตาลชิม เป็นภาพพจน์อุปมา
           ข้อ ๔ อย่างเขียน เป็นภาพพจน์อุปมา

๘๗. คำประพันธ์ต่อไปนี้ใช้ภาพพจน์กี่แห่ง
พระนักสิทธิ์พิศดูเป็นครู่พัก  หัวร่อหนักรูปร่างมันช่างขัน
เมื่อตัวเดียวเจียวกลายเป็นหลายพันธุ์        กำลังมันมากนักเหมือนยักษ์มาร
กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้       มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดรฉาน
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน        ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน
        ๑. ๑ แห่ง
        ๒. ๒ แห่ง
        ๓. ๓ แห่ง
        ๔. ๔ แห่ง
เหตุผลข้อ ๑ เหมือนยักษ์มาร เป็นภาพพจน์อุปมา ข้อ ๒, ๓, ๔ เป็นหลายพันธุ์ เขี้ยวเป็นเพชร เกล็ดเป็นนิล ลิ้นเป็นปาน คำว่า“เป็น” ไม่ใช่ภาพพจน์

ใช้คำประพันธ์ต่อไปนี้ตอบคำถาม ข้อ ๘๘ - ๘๙
ไป่ถามปราชญ์บ่พร้อง  พาที
เปรียบดั่งเภรีตี  จึ่งครื้น
พาลพวกอวดดี  จักกล่าว
ถามบ่ถามมันฟื้น เฟื่องถ้อยเกินถาม

๘๘. ผู้แต่ง ไม่ใช้ กลวิธีตามข้อใด
        ๑. ซ้ำคำ
        ๒. เล่นคำ
        ๓. ภาพพจน์
       ๔. สัมผัสพยัญชนะ
เหตุผล ข้อ ๒ ไม่มีการเล่นคำ
            ข้อ ๑ มีการซ้ำคำ คือ คำว่า “ถาม” ในบาทที่ ๔
            ข้อ ๓ มีการใช้ภาพพจน์ = เปรียบดั่งเภรี
            ข้อ ๔ มีสัมผัสพยัญชนะ เช่น พาล–พวก
๘๙. ข้อใดเป็นจุดประสงค์ของผู้แต่ง
        ๑. สอนไม่ให้เป็นคนพูดโอ้อวด
        ๒. แนะให้คบนักปราชญ์ที่สงวนคำพูด
        ๓. สอนมิให้เอาอย่างคนอวดดี
        ๔. แนะให้เป็นผู้ฟังมากกว่าเป็นผู้พูด
เหตุผล ข้อ ๑ เป็นการสอนไม่ให้พูดโอ้อวด
            ข้อ ๒ กล่าวถึงปราชญ์ว่า เมื่อไม่ถามก็จะไม่พูด ไม่ได้แนะให้คบนักปราชญ์
            ข้อ ๓ กล่าวถึงคนอวดดี แต่มิได้สอนว่าไม่ให้เอาอย่างคนอวดดี
            ข้อ ๔ สอนเรื่องการฟัง แต่ไม่ได้แนะว่าให้เป็นผู้ฟังมากกว่าเป็นผู้พูด
๙๐. ข้อความต่อไปนี้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องอะไร หัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น
       ๑. การได้รับของที่พ้นสมัย
       ๒. การได้รับของที่ผู้ได้รับรังเกียจ
       ๓. การได้รับของที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ได้
       ๔. การได้รับของที่ปราศจากคุณค่า
เหตุผล ข้อ ๓ เมื่อคนหัวล้านได้หวีหรือคนตาบอดได้แว่น นับว่าเป็นการได้ของที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
            ข้อ ๑ หวีและแว่นไม่ใช่ของที่ทันสมัย
            ข้อ ๒ คนหัวล้านไม่ได้รังเกียจหวี คนตาบอดมิได้รังเกียจแว่น
            ข้อ ๔ หวีและแว่นเป็นของที่มีคุณค่า

71-80

ใช้ข้อความต่อไปนี้ตอบคำถาม ข้อ ๗๑ – ๗๒
เรารู้สึกได้ถึงความแตกต่างเมื่อเราปลูกส้มแบบเกษตรอินทรีย์ เราไม่ได้ลงทุนมาก ตั้งแต่ต้นปีมาใช้ไปไม่กี่พันบาท ชาวบ้านไม่เหม็นยาเคมี ไม่มีมลภาวะ สภาพร่างกายดีขึ้นทันตาเห็น ตอนแรกคิดว่าทำยาก เดี๋ยวนี้รู้แล้ว อยากให้คนปลูกส้มแบบใช้สารเคมีหันมาทำแบบเรากันมากขึ้น

๗๑. ข้อใด ไม่ สอดคล้องกับข้อความข้างต้น
        ๑. ผู้พูดเพิ่งเริ่มอาชีพเกษตรกรรมเป็นครั้งแรก
        ๒. ไร่ส้มอินทรีย์ทำได้ง่ายและได้ผลดีหลายด้าน
        ๓. การปลูกส้มแบบใช้สารเคมีมีต้นทุนสูงกว่าแบบอินทรีย์มาก
        ๔. ผู้พูดพอใจที่แข็งแรงขึ้นเพราะไม่ต้องสูดดมสารเคมี
เหตุผลข้อ ๑ ไม่สอดคล้อง กล่าวคือ ผู้พูดเคยมีอาชีพเกษตรกรรมมาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ ดูได้จากประโยคแรกของข้อความ...รู้สึกได้ถึงความแตกต่าง...และสภาพร่างกายเราดีขึ้นทันตาเห็น
           ข้อ ๒ สอดคล้อง เพราะข้อความว่า ตอนแรกคิดว่าทำยาก และผลดีคือลงทุนน้อยไม่เหม็น ไม่มีมลภาวะ ฯลฯ
           ข้อ ๓ สอดคล้อง ดังข้อความว่า เรารู้สึกถึงความแตกต่าง เราไม่ได้ลงทุนมาก ตั้งแต่ต้นปีใช้ไปไม่กี่พันบาท
           ข้อ ๔ สอดคล้อง ดังข้อความว่า ไม่เหม็นยาเคมี สภาพร่างกายเราดีขึ้นทันตาเห็น
๗๒. ข้อใดเป็นเจตนาของผู้พูด
        ๑. บอกกล่าวให้คนรู้จักผลงานเกษตรอินทรีย์ที่ตนทำอยู่
        ๒. ตักเตือนให้คนระวังในการกินส้มที่ปลูกแบบใช้สารเคมี
        ๓. ชักชวนเพื่อนเกษตรกรให้เปลี่ยนมาทำไร่แบบเกษตรอินทรีย์
        ๔. แนะนำคุณค่าของส้มที่ได้จากไร่แบบเกษตรอินทรีย์
เหตุผลข้อ ๓ ผู้พูดมีเจตนาชักชวนเกษตรกรให้เปลี่ยนมาทำไร่แบบเกษตรอินทรีย์ ดังข้อความว่า  อยากให้คนปลูกส้มแบบใช้สารเคมีหันมาทำแบบเรากันมากขึ้น
            ข้อ ๑ ผู้พูดไม่ได้กล่าวถึงผลงานเกษตรอินทรีย์ที่ตนทำอยู่
            ข้อ ๒ ผู้พูดกล่าวถึงเฉพาะการปลูกส้มเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้กล่าวถึงการกินส้มเลย
            ข้อ ๔ ผู้พูดไม่ได้กล่าวถึงผลดีหรือคุณค่าของส้มอินทรีย์เลย

อ่านข้อความต่อไปนี้ แล้วตอบคำถาม ข้อ ๗๓ – ๗๔
คนเราถึงจะเป็นใหญ่ปานใดก็ดี ยังคงมีผู้อื่นหรือสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่า ซึ่งถ้าเป็นผู้มี
ความคิดชอบก็จะต้องเคารพนับถือ แม้พระบรมศาสดาที่เรานิยมว่าประเสริฐกว่ามนุษย์
ทั้งปวงก็ยังทรงแสดงคารวะต่อพระธรรม

๗๓. ข้อใด ไม่ อาจอนุมานได้ว่าเป็นบุคลิกภาพของผู้เขียน
        ๑. มีคุณธรรม
        ๒. อ่อนน้อมถ่อมตน
        ๓. มีความคิดเฉียบคม
        ๔. มีความรู้ทางวิชาการสูง
เหตุผลข้อ ๔ “มีความรู้ทางวิชาการสูง” ไม่อาจอนุมานได้ว่าเป็นบุคลิกภาพของผู้เขียน
           ข้อ ๑ “มีคุณธรรม” อนุมานได้ว่า เป็นบุคลิกภาพของผู้เรียน เพราะไม่ถือ ดีว่าตนเป็นคนเหนือกว่าผู้อื่น
            ข้อ ๒ “อ่อนน้อมถ่อมตน” อนุมานได้ เพราะผู้เขียนยอมเคารพนับถืออื่น
            ข้อ ๓ “มีความคิดเฉียบคม” อนุมานได้ มีการยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าเพื่อเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจน

๗๔. ผู้เขียนใช้วิธีการนำเสนอตามข้อใด
         ๑. ยกตัวอย่างประกอบให้เห็นจริง
         ๒. เปรียบเทียบให้เห็นภาพ
         ๓. อธิบายโดยการนิยาม
        ๔. บรรยายให้รู้กระจ่างชัด
เหตุผลข้อ ๑ ผู้เขียนใช้วิธีการนำเสนอโดยยกตัวอย่างให้เห็นจริง มีการยกตัวอย่าง  พระพุทธเจ้าผู้เป็นเลิศในหมู่คนยังเคารพนับถือพระธรรม
           ข้อ ๒ ไม่มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ (การเปรียบเทียบโดยใช้คำว่า “กว่า”ไม่ใช่การเปรียบเทียบให้เห็นภาพ)
           ข้อ ๓ ไม่มีการอธิบายโดยการนิยาม
           ข้อ ๔ ไม่มีการบรรยาย
๗๕. ข้อใด ไม่ อาจอนุมานได้จากข้อความต่อไปนี้
การไม่กินอาหารเช้าจะทำให้ร่างกายขาดพลังงาน และจะมีผลต่อการเรียนรู้และ
ความจำ เพราะสารอาหารหลักที่ให้พลังงานคือกลูโคสจากอาหาร ดังนั้นการกินอาหาร
เช้าจึงทำให้สมองทำงานได้ดี โดยเฉพาะเด็กนักเรียนจะช่วยให้มีสมาธิในการเรียน
        ๑. นักเรียนควรกินอาหารเช้าเพราะจะช่วยให้เรียนหนังสือได้ดีขึ้น
        ๒. ผู้ใหญ่อาจงดอาหารเช้าได้เพราะไม่ได้อยู่ในวัยเรียน
        ๓. ทุกคนควรกินอาหารเช้าเพราะจะช่วยการทำงานของสมอง
        ๔. อาหารเช้ามีประโยชน์เพราะทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน
เหตุผลข้อ ๒ ไม่อาจอนุมานได้ว่าผู้ใหญ่สามารถงดอาหารเช้าได้แม้ไม่อยู่ในวัยเรียนเพราะอาหารเช้าจำเป็นสำหรับทุกคน
            ข้อ ๑ อนุมานได้ ในข้อความกล่าวว่า เด็กที่กินอาหารเช้าจะได้พลังงานสมองดีขึ้นมีสมาธิในการเรียน
            ข้อ ๓ อนุมานได้ ในข้อความกล่าวว่า อาหารเช้าทำให้สมองทำงานได้ดีเพราะมีสารอาหารที่ใพลังงาน คือ กลูโคส
            ข้อ ๔ อนุมานได้ ในข้อความกล่าวว่า ถ้าไม่กินอาหารเช้า ร่างกายจะขาดพลังงาน

๗๖. ข้อใด ไม่ได้ กล่าวถึงในข้อความต่อไปนี้
ตำราอาหารจีนยกให้สาลี่เป็น “สุดยอดแห่งผลไม้” เนื่องจากมีรสชาติหวานเย็น
และมีคุณค่าทางอาหารสูงเพราะมีธาตุอาหาร เช่น เบตาแคโรทีนและวิตามินซี
สาลี่มีหลายพันธุ์ แต่ที่แพร่หลายก็คือสาลี่หอมและสาลี่หิมะ
        ๑. ข้อมูลพันธุ์สาลี่
        ๒. ประโยชน์ของสาลี่
        ๓. วิธีการเลือกซื้อสาลี่
       ๔. ความนิยมในการรับประทานสาลี่
เหตุผลข้อ๓ ข้อความนี้ไม่ได้กล่าวถึง วิธีการเลือกซื้อสาลี่ ข้อ ๑, ๒, ๔ มีกล่าวถึงในข้อความ

๗๗. ข้อใด ไม่ สอดคล้องกับข้อความต่อไปนี้
เนื่องจากนักดำน้ำต้องทำงานอยู่ภายใต้ความกดดัน ต่อสู้กับกระแสน้ำ คลื่นลม
ความหนาวเย็น ความโดดเดี่ยว อันตรายจากสัตว์ทะเล และโรคที่เกิดขึ้นจากการดำน้ำ
ดังนั้นผู้ที่จะทำงานใต้น้ำจะต้องเป็นผู้ที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ มีสติ
มีการตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้ดี
        ๑. ผู้ทำงานใต้น้ำทุกคนต้องมีร่างกายสมบูรณ์
        ๒. ความโดดเดี่ยวทำให้นักดำน้ำเป็นโรคที่เกิดจากการดำน้ำ
        ๓. กระแสน้ำ คลื่นลม และอุณหภูมิเป็นปัญหาในการทำงานใต้น้ำ
        ๔. อุปสรรคในการทำงานใต้น้ำอาจผ่านพ้นไปได้เพราะความมีสติ
เหตุผลข้อ๒ ข้อความ “ความโดดเดี่ยวทำให้นักดำน้ำเป็นโรคจิตที่เกิดจากการ ”ดำน้ำ” ไม่สอดคล้องกับข้อความข้างต้น ข้อ ๑, ๓, ๔ สอดคล้องกับข้อความข้างต้น

๗๘. ข้อใด ไม่ได้ กล่าวถึงในข้อความต่อไปนี้
ถนนพหลโยธินเป็นชื่อทางหลวงที่เชื่อมกรุงเทพฯ กับจังหวัดทางเหนือของไทย
ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้า
คณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และอดีตนายกรัฐมนตรี
คนแรกของประเทศไทย รัฐบาลให้ตั้งชื่อว่าถนนพหลโยธิน เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคมพ.ศ. ๒๔๙๓
        ๑. ที่มาของชื่อถนน
        ๒. ผู้ตั้งชื่อถนน
        ๓. ปีที่สร้างถนน
        ๔. ประโยชน์ใช้สอยของถนน
เหตุผลข้อ๓ ปีที่สร้างถนนไม่ได้กล่าวถึงในข้อความ
ข้อ ๑ ที่มาของชื่อถนน ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)
ข้อ ๒ ผู้ตั้งชื่อถนน คือ รัฐบาล
ข้อ ๔ ประโยชน์ใช้สอยของถนน ใช้เชื่อมกรุงเทพฯ กับจังหวัดทางเหนือของไทย
๗๙. ข้อใดเป็นแนวคิดของข้อความต่อไปนี้
ไม่สำคัญหรอกว่าชีวิตนี้เคยล้มหรือไม่เคยล้ม แต่อยู่ที่ว่าสามารถลุกขึ้นได้ทุกครั้ง
ที่ล้มหรือไม่ บางคนเพราะล้มจึงได้รู้ข้อผิดพลาด แล้วนำจุดที่เคยพลาดพลั้งนั้นมาทำ
กำไรให้ชีวิตในอนาคต จนลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง
        ๑. ทุกคนล้วนแต่เคยสมหวังและผิดหวังในชีวิตมาแล้ว
        ๒. การยอมแพ้อุปสรรคย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร
        ๓. การนำข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียนทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้
        ๔. การฟื้นฟูกิจการที่ล้มเหลวให้ได้กำไรไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่จะกระทำ
เหตุผลข้อ ๓ เป็นความคิดรวบยอดของข้อความทั้งหมด “การนำข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียน”ดูจากข้อความบางคนเพราะล้ม จึงรู้ข้อ ผิดพลาด แล้ว นำจุด ที่เคยพลาดพลั้ง มาทำกำไรจนลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง “ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้” ดูจากข้อความว่า มาทำกำไรให้ชีวิตในอนาคต...จนลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง
            ข้อ ๑ ไม่ได้กล่าวถึงความสมหวังหรือผิดหวังของทุกคน
            ข้อ ๒,๔ ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้
๘๐. ผู้เขียนเจตนาจะให้แนวคิดตามข้อใด
ธรรมดาภาษาของชาติที่กำลังเจริญย่อมจะเดินไปข้างหน้าเสมอ แต่ถ้าเดิน
เข้าป่าเข้ารกหนักเข้าก็ถ่วงความเจริญลงไป
        ๑. ธรรมชาติของภาษาต้องมีการเปลี่ยนแปลง
        ๒. ความเจริญของชาติบ้านเมืองอยู่ที่ภาษา
        ๓. ภาษาเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องมีขอบเขต
        ๔. ชาติที่กำลังพัฒนาควรพัฒนาภาษาด้วย
เหตุผลข้อ ๓ เจตนาให้แนวคิดว่า “ภาษาเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องมีขอบเขต”
           ข้อ ๑ ไม่ใช่แนวคิดของทั้งข้อความ
           ข้อ ๒ ไม่ใช่แนวคิดสำคัญของข้อความ
           ข้อ ๔ ไม่ปรากฏแนวคิดนี้ในข้อความ

61-70

เหตุผล
๖๑. น้องพูดว่า “เช้านี้ขอกาแฟแก้วเดียว ขนมปังแผ่นหนึ่งเหมือนทุกวันก็พอแล้ว กินมาก
เดี๋ยวอ้วน ต้องรีบไปทำงานด้วย จะสายแล้ว”
คำพูดของพี่ตามข้อใดไม่สัมพันธ์กับคำกล่าวของน้องข้างต้น
       ๑. กว่าจะถึงมื้อกลางวันก็อีกหลายชั่วโมง จะไม่มีสมาธิทำงานนะ
        ๒. พี่เตรียมน้ำเต้าหู้ใส่ลูกเดือยให้แล้ว ไม่กี่แคลอรีหรอก มีประโยชน์กว่ากาแฟ
        ๓. กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ แล้วออกกำลัง ก็ทำให้สุขภาพดีได้
        ๔. ตื่นให้เร็วกว่าเคยหน่อย ก็จะมีเวลากินข้าวเช้าได้
เหตุผลข้อ ๓ คำพูดของพี่ไม่เกี่ยวข้องกับความต้องการของน้อง
            ข้อ ๑ คำพูดของพี่เกี่ยวข้องกับคำพูดของน้อง แสดงความห่วงใย ไม่อยากให้น้องรับประทานอาหารน้อย
            ข้อ ๒ คำพูดของพี่เกี่ยวข้องกับคำพูดของน้อง แสดงความห่วงใยสุขภาพ ของน้อง
            ข้อ ๔ คำพูดของพี่เกี่ยวข้องกับคำพูดของน้อง แสดงความห่วงใยสุขภาพ ของน้อง อยากให้น้องรับประทานข้าวเป็นอาหารเช้า

การบรรยาย
๖๒. คุณสุชาติอธิบายแก่ผู้ที่มาขอคำปรึกษาว่า
“ถ้าวันไหนคุณเกิดกลัวผีอย่างจับจิตจับใจอีก ก็ให้ตั้งสติดีๆ ระลึกถึงคำที่ผมพูดใน
วันนี้ว่า ความกลัวนั้นเกิดจากใจของเราเอง เราคิดเอาเองว่าเราเห็นหรือได้ยินสิ่งแปลกๆ
ที่เร้นลับ โดยเฉพาะเวลาอยู่คนเดียวหรืออยู่ลำพังในที่มืด ทั้งหมดนั้นเกิดจากจินตนาการ
ของเราโดยแท้”
คำพูดของผู้ฟังตามข้อใดต่อไปนี้แสดงว่าคำพูดของคุณสุชาติบรรลุวัตถุประสงค์
        ๑. ดิฉันจะลองทำดูก่อน เผื่อจะได้ผลบ้าง ทั้งๆ ที่ก็ยังกลัวอยู่นะคะ
        ๒. คุณคะ คุณมีคาถากันผีบ้างไหม ดิฉันอยากได้คาถาที่ผีกลัว
        ๓. ที่คุณพูดก็อาจจะจริง แต่ดิฉันก็ยังไม่กล้าเสี่ยงอยู่ดี
        ๔. คุณไม่เคยเจอผีคุณก็พูดได้ซีคะ เวลาเจอแล้วจะตั้งสติได้อย่างไรล่ะคะ
เหตุผล ข้อ ๑ บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะผู้ฟังเชื่อและจะทำตามคำพูดของคุณสุชาติ
            ข้อ ๒ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะผู้ฟังไม่คล้อยตามเหตุผลของผู้พูด
            ข้อ ๓ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะผู้ฟังแบ่งรับแบ่งสู้
            ข้อ ๔ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะผู้ฟังปฏิเสธ

บรรณานุกรรม
๖๓. ข้อใดไม่จำเป็นต้องอ้างถึงในการเขียนบรรณานุกรมทั้ง ๒ รายการ
รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา. ๒๕๔๙. คลังคำ. พิมพ์ครั้งที่ ๓.
กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
๑๑๓๔ หน้า.
        ๑. คำนำหน้าชื่อผู้แต่ง และ ครั้งที่พิมพ์
        ๒. คำนำหน้าชื่อผู้แต่ง และ จำนวนหน้า
        ๓. สำนักพิมพ์ และ จำนวนหน้า
        ๔. ครั้งที่พิมพ์ และ สำนักพิมพ์
เหตุผล ข้อ ๒ การเขียนบรรณานุกรมจะใช้เฉพาะชื่อและนามสกุลของผู้แต่ง และ ไม่จำเป็นต้องระบุจำนวนหน้า
            ข้อ ๑ คำนำหน้าชื่อผู้แต่งไม่จำเป็น แต่ครั้งที่พิมพ์จำเป็นต้องอ้างถึงถ้าไม่ใช่การพิมพ์ ครั้งแรก
            ข้อ ๓ สำนักพิมพ์จำเป็นต้องอ้างถึง แต่จำนวนหน้าไม่จำเป็น
            ข้อ ๔ ครั้งที่พิมพ์จำเป็นต้องอ้างถึงถ้าไม่ใช่การพิมพ์ครั้งแรก และสำนักพิมพ์จำเป็นต้องอ้างถึง

การอนุมาน
๖๔. ข้อใดไม่อาจอนุมานได้ว่าเป็นคุณสมบัติของน้ำทับทิมตามบทโฆษณาต่อไปนี้
สาวน้อยหุ่นดี ยิ้มแย้มแจ่มใส
คิดดี ทำดี คนนี้
ดื่มน้ำทับทิมพลอยแสงเป็นประจำ
        ๑. มีรสชาติดี   ๒. เหมาะแก่คนรุ่นใหม่
        ๓. มีประโยชน์ต่อสุขภาพ  ๔. เหมาะแก่สตรี
เหตุผลข้อ๑ อนุมาน หมายถึง การใช้ความคิดเพื่อหาข้อสรุปจากหลักทั่วไป หรือหลักเกณฑ์ หรือข้อเท็จจริงที่มีอยู่ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. วิธีนิรนัย คือ การแสดงเหตุผลจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย
๒. วิธีอุปนัย คือ การแสดงเหตุผลจากส่วนย่อยไปหาส่วนรวม วิธีนี้มีข้อสังเกต คือ มีการใช้แนวเทียบเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นจริงอย่างนั้นแน่นอนเสมอไป
คังนั้น ข้อ ๑ ไม่อาจอนุมานได้ เพราในข้อความไม่มีข้อมูลใดที่จะตีความได้ว่ารสชาติดี
           ข้อ ๒ อนุมานได้ เพราะมีคำว่า “สาวน้อย” ซึ่งหมายถึงคนรุ่นใหม่
           ข้อ ๓ อนุมานได้ เพราะมีคำว่า “หุ่นดี” ซึ่งเกิดจากการดื่มน้ำทับทิมเป็นประจำ
           ข้อ ๔ อนุมานได้ เพราะมีคำว่า “สาวน้อยหุ่นดี ยิ้มแย้มแจ่มใส” ซึ่งเหมาะกับสตรี

๖๕. บุคคลตามข้อใดทำตามคำแนะนำวิธีป้องกันโรคระบาดที่ว่า
“กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด”
  • สุภาใช้ช้อนกลางตักแกงจืดเข้าปากตัวเอง
  • สุภาพชอบดื่มแต่กาแฟร้อนใส่นม
  •  สุพิศใช้สบู่ฟอกมือทุกครั้งเมื่อกลับถึงบ้าน
  •  สุพงศ์กินต้มยำที่เพิ่งทำเสร็จแทนอาหารประเภทยำ
         ๑. สุภาและสุภาพ
         ๒. สุภาพและสุพิศ
         ๓. สุพิศและสุพงศ์
         ๔. สุพงศ์และสุภา
เหตุผลข้อ๓ สุพิศใช้สบู่ฟอกมือ ตรงกับคำแนะนำที่ว่า “ล้างมือให้สะอาด” สุพงศ์กินต้มยำที่เพิ่งทำเสร็จ ตรงกับคำแนะนำที่ว่า “กินของร้อน”
           ข้อ ๑ สุภาใช้ช้อนกลางไม่ถูกต้อง สุภาพดื่มกาแฟที่เป็นของร้อน แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์
           ข้อ ๒ สุภาพปฏิบัติไม่ถูกต้อง
           ข้อ ๔ สุภาปฏิบัติไม่ถูกต้อง แม้ว่าใช้ช้อนกลางแต่ตักเข้าปากตัวเอง
๖๖. จากข้อความต่อไปนี้ ก. คืออะไร
- ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อ ก. จากจีนมากกว่าเพราะเมล็ดโตกว่า
- ก. สายพันธุ์ไทยมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสายพันธุ์จีน
- ผู้วิจัยพบว่า ก. สายพันธุ์ไทยทำเป็นแป้งที่มีคุณภาพมากกว่า
- ก. เป็นส่วนประกอบที่ใช้ทำขนมไทยหลายชนิด
- เจ้าของบึงมักตัดดอกขายมากกว่าจะรอจนกว่าจะได้ ก.
        ๑. เมล็ดถั่วเหลือง
        ๒. เมล็ดข้าวสาลี
        ๓. เมล็ดทานตะวัน
        ๔. เมล็ดบัว
เหตุผลข้อ๔ ข้อมูลที่ให้มาทั้งหมด มีข้อความที่ต้องตอบว่า เมล็ดบัว โดยดูจาก” เจ้าของบึงมักตัดดอกขายมากกว่าจะรอจนกว่าจะได้เมล็ดจากฝักบัว” ข้อ ๑, ๒, ๓ ไม่ได้มาจากบึง

๖๗. ข้อใดไม่อาจอนุมานได้จากคำพูดต่อไปนี้
“จากการทดสอบทักษะภาษาไทยของนักศึกษา ๔๐๐ คน มีผู้อยู่ในเกณฑ์ดีเพียง
๓๐ คน ไม่มีผู้ที่ได้คะแนนในเกณฑ์ดีมากเลย อย่างนี้ไม่เรียกว่าวิกฤตได้อย่างไร”
       ๑. ผู้พูดเห็นว่าผลการทดสอบทักษะการใช้ภาษาไทยไม่น่าพอใจ
       ๒. ผู้พูดวิตกว่าการเรียนการสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยถึงขั้นต้องปรับปรุง
       ๓. ผู้พูดเห็นความสำคัญของการเรียนการสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย
       ๔. ผู้พูดเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะจัดการทดสอบทักษะภาษาไทยในมหาวิทยาลัย
เหตุผลข้อ๔ อนุมานไม่ได้ เนื่องจากไม่มีข้อความตอนใดที่กล่าวถึงประโยชน์ของการจัดทดสอบทักษะภาษาไทย
          ข้อ ๑ อนุมานได้ เนื่องจากกล่าวถึงมีผู้ได้คะแนนในเกณฑ์ดีเพียง ๓o คน จากนักศึกษา ๔oo คน
          ข้อ ๒ อนุมานได้ เนื่องจากผู้พูดกล่าวถึงผลการทดสอบที่สะท้อนถึงการเรียนการสอนภาษาไทย
          ข้อ ๓ อนุมานได้ เนื่องจากผู้พูดเห็นว่าผลการทดสอบทักษะภาษาไทยอยู่ในขั้นวิกฤต

๖๘. ข้อใด ไม่ น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการพูดประโยคต่อไปนี้
“น่าจะดีนะ เราจะได้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”
       ๑. การประกาศให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นเขตปลอดมลพิษ
       ๒. การรณรงค์ให้ใช้เตาเผาขยะแบบไร้ควันพิษในโรงงาน
       ๓. การอนุญาตให้ค้าขายบนทางเท้าได้โดยไม่มีวันหยุด
       ๔. การเปลี่ยนสถานีขนส่งเป็นสวนสาธารณะกลางเมือง
เหตุผลข้อ๓ การอนุญาตให้ขายบนทางเท้าโดยไม่มีวันหยุดทำให้ไม่มีโอกาสดูแลรักษาความสะอาด จึงไม่ใช่เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม
           ข้อ ๑ การประกาศเขตปลอดมลพิษเป็นวิธีการหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมได้
           ข้อ ๒ การใช้เตาเผาขยะแบบไร้ควันพิษเป็นวิธีการรักษาสิ่งแวดล้อมได้
           ข้อ ๔ การสร้างสวนสาธารณะกลางเมือง เป็นการลดมลพิษ ซึ่งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้

๖๙. ในข้อความต่อไปนี้ “หัวใจของธุรกิจนี้” มีความหมายตามข้อใด
หัวใจของธุรกิจนี้แตกต่างจากที่อื่นซึ่งอาจจะสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศบ้าง
ขยายเครือข่ายอย่างกว้างขวางบ้าง ส่วนเราต้องยืนหยัดให้ได้ท่ามกลางความ
เปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
        ๑. ความมั่นคงขององค์กร
        ๒. คุณภาพของสินค้า
        ๓. ความมีสัมพันธภาพที่ดี
        ๔. การเติบโตของธุรกิจ
เหตุผลข้อ๑ สาระสำคัญของธุรกิจนี้คือ การทำธุรกิจนี้ต้องยืนหยัดให้ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม “หัวใจของธุรกิจ” จึงหมายถึง ความมั่นคงขององค์กร
          ข้อ ๒ ข้อความนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของสินค้าในการทำธุรกิจเพราะใช้ข้อความว่า”สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศบ้าง”
          ข้อ ๓ ข้อความนี้ไม่ได้เน้นความสำคัญของความมีสัมพันธภาพที่ดี เพราะใช้ข้อความว่า “ขยายเครือข่ายอย่างกว้างขวางบ้าง”
          ข้อ ๔ ข้อความนี้ไม่ได้กล่าวถึงการเติบโตของธุรกิจ

๗๐. ข้อใด ไม่ได้ กล่าวถึงในข้อความต่อไปนี้
การทำพู่กันจีนจากขนสัตว์เริ่มด้วยการเลือกวัสดุ ทำความสะอาด
สาง แล้วประกอบเข้ากับด้าม โดยต้องระวังให้ขนของปลายพู่กัน
เรียงเท่ากันอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้น้ำหมึกเดินสม่ำเสมอ
        ๑. คุณค่า  ๒. วิธีทำ
        ๓. ชนิดของวัสดุ  ๔. ความประณีตในการทำ
เหตุผลข้อ ๑ ข้อความนี้กล่าวถึงการทำพู่กันจีนเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงคุณค่า
           ข้อ ๒ กล่าวถึงวิธีทำ เริ่มจากเลือกวัสดุ ทำความสะอาดแล้วประกอบเข้ากับด้าม
           ข้อ ๓ กล่าวถึงชนิดของวัสดุ เพราะมีข้อความว่า “ทำจากขนสัตว์”
           ข้อ ๔ กล่าวถึงความประณีตในการทำ เพราะมีข้อความว่า “ต้องระวังให้ ขนของพู่กันเรียงเท่ากันอย่างเป็นระเบียบ”