วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

81-90

๘๑. ข้อใดเหมาะจะเติมลงช่องว่างในโคลงสองสุภาพ ๒ บทนี้
ของคาวพลันเสพแล้ว ยามสุริยาเคลื่อน.....(ก).......ลับไม้หมดศรี
ของหวาน.....(ข).....ลูกไม้ หลายสิ่งเสาะหาได้แต่ล้วนอย่างดี นักนอ
        ๑. (ก) คล้อย (ข) นี่
        ๒. (ก) ที่ (ข) พาน
        ๓. (ก) คลาด (ข) เป็น
        ๔. (ก) แคล้ว (ข) มี
เหตุผลข้อ ๔ (ก) แคล้ว ซึ่งสัมผัสกับคำ แล้ว ในวรรคที่ ๑ และเป็นคำโท (ข) มี ซึ่งสัมผัสกับคำ ศรี ในบทที่๑
            ข้อ ๑ (ก) คล้อย ไม่รับสัมผัสกับวรรคที่ ๑ (ข) นี่ สัมผัสกับคำ ศรี ในบทที่ ๑ แต่ถูกเพียงคำเดียว
            ข้อ ๒, ๓ ไม่รับสัมผัสเลย
๘๒. ข้อความต่อไปนี้เมื่อจัดวรรคถูกต้องตามฉันทลักษณ์จะเป็นคำประพันธ์ชนิดใด
เสด็จพ้นทวาเรศข้ามคูเวียงหวั่นฤทัยท่านเพียงจักว้าพระองค์ก็อ่อนเอียงเอน
อาสน์อกระรัวมัวหน้าสั่นส้านเสียวแสยง
        ๑. โคลง
        ๒. กลอน
        ๓. ฉันท์
        ๔. ร่าย
เหตุผล ฉันทลักษณ์ หมายถึง ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย ซึ่งกำชัย ทองหล่อให้ความหมายไว้ว่า ฉันทลักษณ์ คือตำราที่ว่าด้วยวิธีร้อยกรองถ้อยคำหรือเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามลักษณะบังคับและบัญญัติที่นักปราชญ์ได้ว่างเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้นตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า คำประพันธ์[1] และได้ให้ความหมายของ คำประพันธ์ คือถ้อยคำที่ได้ร้อยกรองหรือเรียบเรียงขึ้น โดยมีข้อบังคับ จำกัดคำและวรรคตอนให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์ โดยแบ่งเป็น 7 ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล ซึ่งก็คือ ร้อยกรองไทยนั่นเอง
ข้อ ๑ เป็นโคลงตามรูปแบบนี้
เสด็จพ้นทวาเรศข้าม           คูเวียง
หวั่นฤทัยท่านเพียง  จักว้า
พระองค์ก็อ่อนเอียง  เอนอาสน์
อกระรัวมัวหน้า  สั่นส้านเสียวแสยง
๘๓. คำกล่าวในข้อใดไม่ต้องการคำตอบจากคู่สนทนา
        ๑. นี่ลูกเต้าของใครได้ไหนมา ดูหน้าตายิ้มย่องผ่องแผ้ว
        ๒. ยังเล็กนักได้สักกี่เดือนแล้ว ลูกแก้วจงแถลงแจ้งกิจจา
        ๓. ใครแกงฟักขึ้นมาเวลานี้ ไปหาตัวมานี่อย่าได้ช้า
        ๔. ถ้าหนุ่มแน่นแม้นเหมือนแต่ก่อนไซร้ จะเกรงกลัวอะไรกับไพรี
เหตุผล ข้อ ๔ คำว่า “อะไร” ในที่นี้ไม่ใช่คำถาม (ไม่ใช่ปฤจฉาสรรพนาม) แต่เป็นอนิยมสรรพนาม
            ข้อ ๑ ต้องการคำตอบว่าลูกใคร และได้มาจากไหน
            ข้อ ๒ ต้องการคำตอบว่าอายุเท่าไร
            ข้อ ๓ ต้องการคำตอบว่าใครเป็นคนแกง
๘๔. ข้อใดใช้สัมผัสเพียงชนิดเดียว
        ๑. พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง
        ๒. งามประหลาดเลิศล้ำเลขา
        ๓. อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์
        ๔. ดังกินรีลงสรงคงคาลัย
เหตุผล  คำสัมผัส หมายถึง คำที่ออกเสียงคล้องจองกัน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. สัมผัสสระ และ ๒. สัมผัสพยัญชนะ หรือสัมผัสอักษร  ดังนั้น  ข้อ ๒ มีเฉพาะสัมผัสพยัญชนะ คือ (ประ)หลาด-เลิศ-ล้ำ-เล(ขา) ข้อ ๑ มีสัมผัสพยัญชนะ คือ ปลั่ง-เปล่ง มีสัมผัสสระ คือ น้อง-(ละ) ออง                                                       ข้อ ๓ มีสัมผัสพยัญชนะ คือ อร-อ้อน-แอ้น-อิน(ทรีย์) มีสัมผัสสระ คือ ชร-อ้อน                                           ข้อ ๔ มีสัมผัสพยัญชนะ คือ คง – คา มีสัมผัสสระคือ ลง - สรง

๘๕. ข้อใดมีลักษณะเป็นบทรำพันนิราศอย่างเห็นได้ชัด
         ๑. ชมพนมพนาเวศห้วย เหวหิน
         ๒. ทุกเซาะซอกศีขริน ร่องน้ำ
         ๓. จักชวนแม่สรงสินธุ์ แสนสนุก
         ๔. สนานอุทกท่าถ้ำ เถื่อนท้องแถวธาร
เหตุผล นิราศ หมายถึง งานประพันธ์ประเภทหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน นิราศเรื่องแรกของไทยนั้น ได้แก่ โคลงหริภุญชัย ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา นิราศนั้น มักมีเนื้อหาในเชิงพรรณนาถึงการเดินทางเป็นหลัก มักจะเล่าถึงเส้นทาง การเดินทาง และบอกเล่าถึงสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง ขณะเดียวกัน มักจะสอดแทรกความคิด ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางนั้น โดยมักจะเชื่อมโยงสิ่งที่พบเห็นกับความรู้สึกภายใน ผู้แต่งนิราศ มักจะใช้คำประพันธ์แบบร้อยกรองเป็นหลัก แต่นิราศที่แต่งด้วยร้อยแก้วก็มีอยู่บ้างเช่นกัน อนึ่ง คำว่า นิราศ มีความหมายตามตัวอักษรว่า จาก พราก ไปจาก ฯลฯ แต่นิราศอาจหมายถึงงานประพันธ์ที่พรรณนาถึงเหตุการณ์ตามลำดับ พร้อมทั้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นๆ โดยมิได้มีการเดินทาง หรือการพลัดพรากก็ได้
ดังนั้น ข้อ ๓ มีการกล่าวถึงนางซึ่งกวีจากมา ซึ่งเป็นลักษณะของนิราศ
          ข้อ ๑, ๒ เป็นการชมธรรมชาติเท่านั้น
          ข้อ ๔ เป็นการกล่าวถึงการอาบน้ำในลำธารในป่า

๘๖. ข้อใดไม่ใช้ภาพพจน์
๑. หนึ่งส้มเทพรส  หวานปรากฏรสแนบเนียน
  ส้มเหม็นหล่นอาเกียรณ์  เปลือกบางอ่อนหนอนชอบใจ
๒. อย่างหนึ่งส้มสันดาน  หมอใช้การยาสำคัญ
เรียกชื่อส้มเหมือนกัน  กินบได้ใช้ทำยา
๓. ส้มหนึ่งสีผิวเหลือง  มาแต่เมืองตรังกานู
 รสชาติก็พอดู  รสสนิทหวานปานตาลชิม
๔. พรรณหนึ่งเรียกส้มจุก  ผลห่ามสุกดูสลอน
เปลือกบางคิดบังอร   โฉมแบบบางร่างอย่างเขียน
เหตุผล ภาพพจน์   มากจากคำว่า ภาพ+ พจน์ (ถ้อยคำ) หมายถึง    การใช้ถ้อยคำให้เกิดมโนภาพ
 โดยใช้ภาษาในแบบต่าง ๆ อย่างมีศิลปะ ดังนี้
๑   อุปมา (เหมือน ดุจ ดั่ง ราว)
๒   อุปลักษณ์  ( เป็น คือ )
๓. สัญลักษณ์ ( สีขาว แทน ความบริสุทธิ์)
บุคลาธิษฐาน/บุคคลวัต/บุคคลสมมุติ
(สิ่งอื่นมาแสดงอาการมนุษย์)
๕. อติพจน์/อธิพจน์(มากเกินจริง) , อวพจน์ (น้อยเกินจริง)
๖. อรรถวิภาษ/ปฏิพากย์/ปรพากย์ (คำตรงข้าม)
๗. สัทพจน์ (เลียนเสียงธรรมชาติ)
๘. นามนัย (สิ่งที่เกี่ยวข้องกันให้มีความหมายแฝง)
ดังนั้น ข้อ ๒ คำว่า “เหมือน” ในที่นี้ไม่ใช่คำที่ใช้ในภาพพจน์เปรียบเทียบ
           ข้อ ๑ ชอบใจ เป็นอาการของคน เมื่อใช้กับ หนอน ถือเป็นบุคคลวัต
           ข้อ ๓ ปานตาลชิม เป็นภาพพจน์อุปมา
           ข้อ ๔ อย่างเขียน เป็นภาพพจน์อุปมา

๘๗. คำประพันธ์ต่อไปนี้ใช้ภาพพจน์กี่แห่ง
พระนักสิทธิ์พิศดูเป็นครู่พัก  หัวร่อหนักรูปร่างมันช่างขัน
เมื่อตัวเดียวเจียวกลายเป็นหลายพันธุ์        กำลังมันมากนักเหมือนยักษ์มาร
กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้       มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดรฉาน
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน        ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน
        ๑. ๑ แห่ง
        ๒. ๒ แห่ง
        ๓. ๓ แห่ง
        ๔. ๔ แห่ง
เหตุผลข้อ ๑ เหมือนยักษ์มาร เป็นภาพพจน์อุปมา ข้อ ๒, ๓, ๔ เป็นหลายพันธุ์ เขี้ยวเป็นเพชร เกล็ดเป็นนิล ลิ้นเป็นปาน คำว่า“เป็น” ไม่ใช่ภาพพจน์

ใช้คำประพันธ์ต่อไปนี้ตอบคำถาม ข้อ ๘๘ - ๘๙
ไป่ถามปราชญ์บ่พร้อง  พาที
เปรียบดั่งเภรีตี  จึ่งครื้น
พาลพวกอวดดี  จักกล่าว
ถามบ่ถามมันฟื้น เฟื่องถ้อยเกินถาม

๘๘. ผู้แต่ง ไม่ใช้ กลวิธีตามข้อใด
        ๑. ซ้ำคำ
        ๒. เล่นคำ
        ๓. ภาพพจน์
       ๔. สัมผัสพยัญชนะ
เหตุผล ข้อ ๒ ไม่มีการเล่นคำ
            ข้อ ๑ มีการซ้ำคำ คือ คำว่า “ถาม” ในบาทที่ ๔
            ข้อ ๓ มีการใช้ภาพพจน์ = เปรียบดั่งเภรี
            ข้อ ๔ มีสัมผัสพยัญชนะ เช่น พาล–พวก
๘๙. ข้อใดเป็นจุดประสงค์ของผู้แต่ง
        ๑. สอนไม่ให้เป็นคนพูดโอ้อวด
        ๒. แนะให้คบนักปราชญ์ที่สงวนคำพูด
        ๓. สอนมิให้เอาอย่างคนอวดดี
        ๔. แนะให้เป็นผู้ฟังมากกว่าเป็นผู้พูด
เหตุผล ข้อ ๑ เป็นการสอนไม่ให้พูดโอ้อวด
            ข้อ ๒ กล่าวถึงปราชญ์ว่า เมื่อไม่ถามก็จะไม่พูด ไม่ได้แนะให้คบนักปราชญ์
            ข้อ ๓ กล่าวถึงคนอวดดี แต่มิได้สอนว่าไม่ให้เอาอย่างคนอวดดี
            ข้อ ๔ สอนเรื่องการฟัง แต่ไม่ได้แนะว่าให้เป็นผู้ฟังมากกว่าเป็นผู้พูด
๙๐. ข้อความต่อไปนี้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องอะไร หัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น
       ๑. การได้รับของที่พ้นสมัย
       ๒. การได้รับของที่ผู้ได้รับรังเกียจ
       ๓. การได้รับของที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ได้
       ๔. การได้รับของที่ปราศจากคุณค่า
เหตุผล ข้อ ๓ เมื่อคนหัวล้านได้หวีหรือคนตาบอดได้แว่น นับว่าเป็นการได้ของที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
            ข้อ ๑ หวีและแว่นไม่ใช่ของที่ทันสมัย
            ข้อ ๒ คนหัวล้านไม่ได้รังเกียจหวี คนตาบอดมิได้รังเกียจแว่น
            ข้อ ๔ หวีและแว่นเป็นของที่มีคุณค่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น