วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

21-30

คำบุพบทและคำสันธาน
๒๑. ข้อความต่อไปนี้มีบุพบทและสันธานกี่คำ
คนไทยสมัยโลกาภิวัตน์ได้เปรียบคนไทยรุ่นก่อนในด้านที่มีความรู้กว้างขวาง
เพราะสามารถแสวงหาความรู้ได้จากแหล่งต่างๆทั้งหนังสือวิทยุโทรทัศน์และ
คอมพิวเตอร์
       ๑. บุพบท๑คำสันธาน๓คำ
       ๒. บุพบท๒คำสันธาน๓คำ
       ๓. บุพบท๑คำสันธาน๔คำ
       ๔. บุพบท๒คำสันธาน๔คำ
เหตุผลข้อ๒ บุพบท ๒ คำ ได้แก่ ใน, จาก
สันธาน ๓ คำ ได้แก่ เพราะ, ทั้ง, และ

คำนามและคำกริยา
๒๒. ข้อความต่อไปนี้มีคำนามและคำกริยาหลักอย่างละกี่คำ (ไม่นับคำซ้ำ)
การกู้ยืมจะมีประโยชน์ต่อเมื่อเงินที่กู้มานั้นใช้อย่างมีคุณภาพและสร้างรายได้
เพื่อเพิ่มต้นทุนของเงินจำนวนนั้น
        ๑. นาม๔คำกริยา๓คำ
       ๒. นาม๕คำกริยา๔คำ
       ๓. นาม๖คำกริยา๕คำ
       ๔. นาม๗คำกริยา๖คำ
เหตุผลข้อ๓ คำนาม ๖ คำ ได้แก่ การกู้ยืม, ประโยชน์, เงิน, คุณภาพ, รายได้,
ต้นทุน คำกริยา ๕ คำ ได้แก่ มี, กู้, ใช้, สร้าง, เพิ่ม

ประโยคความเดียวความซ้อน
๒๓. ข้อใดเป็นประโยคความเดียว
         ๑. เครื่องปั้นดินเผาก่อนประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง
         ๒. เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียงส่วนใหญ่เป็นหม้อลายเขียนสีรูปวงกลมม้วนคล้ายลายก้นหอย
         ๓. หลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่าบ้านเชียงเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
         ๔. คณะกรรมการมรดกโลกประกาศให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลกเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕
เหตุผลข้อ๒ เป็นประโยคความเดียวเพราะมีคำกริยาตัวเดียวและไม่มีประโยคอื่นมาขยาย
ข้อ๑ เป็นประโยคความซ้อน มี “ที่” เป็นคำเชื่อมอนุประโยค
ข้อ๓ เป็นประโยคความซ้อน มี “ว่า” เป็นคำเชื่อมอนุประโยค
ข้อ๔ เป็นประโยคความซ้อน มี “ให้” เป็นคำเชื่อมอนุประโยค

๒๔. ข้อใดไม่ใช่ประโยคความซ้อน
        ๑. คนไทยนิยมทำอาหารตามฤดูกาลซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติ
        ๒. ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้คนเป็นไข้หวัด
        ๓. เย็นนี้แม่บ้านจะทำแกงส้มดอกแคและผัดผักรวม
        ๔. เชื่อกันว่าการรับประทานแกงร้อนๆจะช่วยแก้ไข้หวัดในระยะเปลี่ยนฤดูได้
เหตุผลข้อ๓ เป็นประโยคความรวมมีคำเชื่อม และ เชื่อม 2 ประโยค
ข้อ๑ เป็นประโยคความซ้อน มี “ซึ่ง” เป็นคำเชื่อมอนุประโยค
ข้อ๒ เป็นประโยคความซ้อน มี “ที่” เป็นคำเชื่อมอนุประโยค
ข้อ๔ เป็นประโยคความซ้อน มี “ว่า” เป็นคำเชื่อมอนุประโยค

๒๕. ข้อใดไม่ใช่ประโยค
        ๑. การดำเนินงานธุรกิจหรือการประกอบอาชีพต้องมีความพอเพียง
       ๒. เศรษฐกิจพอเพียงมิได้จำกัดเฉพาะเกษตรกรหรือชาวไร่ชาวนาเท่านั้น
       ๓. เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นให้เกษตรกรสามารถดูแลตัวเองได้
       ๔. การบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ทำให้คนสามารถดูแลตัวเองให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน
เหตุผลข้อ๔ มีแต่ส่วนประธานและส่วนขยายประธาน ยังไม่มีกริยาหลักจึงเป็น
ประโยคไม่ได้
ข้อ ๑, ๒ เป็นประโยค มีประธาน กริยา กรรม
ข้อ ๓ เป็นประโยค มีประธาน กริยา ส่วนเติมเต็ม

น้ำเสียงในการพูดและเขียน
๒๖. ข้อใดมีน้ำเสียงเชิงตำหนิ
        ๑. ผู้จัดการบริษัทนำเที่ยวบริหารงานจนใครๆยกนิ้วให้
        ๒. ชาวบ้านรู้ตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดีว่าเขาร่ำรวยเพราะอะไร
        ๓. ไม่ว่าแม่จะถามความเห็นกี่ครั้งลูกสาวก็ยังยืนคำเหมือนเดิม
        ๔. เวลาจะไปพักผ่อนต่างจังหวัดคุณแม่ก็จัดแจงจองที่พักล่วงหน้า
เหตุผลข้อ๒ มีน้ำเสียงเชิงตำหนิว่าอาจจะไม่ซื่อสัตย์
ข้อ ๑ มีน้ำเสียงชื่นชม
ข้อ ๓,๔ มีน้ำเสียงปรกติ

ความหมายของคำ และความหมายเชิงอุปมา
๒๗. คำทุกคำในข้อใดใช้ได้ทั้งความหมายตามตัวและความหมายเชิงอุปมา
        ๑. ปีนเกลียวปิดฉากถูกขา
       ๒. ปิดตาเฝ้าไข้เปลี่ยนมือ
       ๓. วางใจเป่าปี่แก้เคล็ด
       ๔. ปั่นหัวกินตะเกียบลงคอ
เหตุผลข้อ๑ “ปีนเกลียว” ความหมายตามตัว = เกลียวไม่สบกัน, เกลียวไม่ลงตามร่อง
ความหมายเชิงอุปมา = มีความเห็นไม่ลงรอยกัน “ปิดฉาก” ความหมายตามตัว =
รูดม่านปิดเมื่อละครจบ ความหมายเชิงอุปมา = เลิก, หยุด, ยุติ เช่น ปิดฉากชีวิต
แปลว่า ตาย “ถูกขา” ความหมายตามตัว = สัมผัสขา, โดนขา ความหมายเชิงอุปมา =
เข้ากันได้
ข้อ ๒ “ปิดตา”, “เปลี่ยนมือ” มีความหมายตามตัวและความหมายเชิงอุปมา “เฝ้าไข้”
มีความหมายตามตัวได้อย่างเดียว
ข้อ ๓ “เป่าปี่”, “แก้เคล็ด” มีความหมายตามตัวและความหมายเชิงอุปมา “วางใจ”
มีความหมายเชิงอุปมาได้อย่างเดียว
ข้อ ๔ “ปั่นหัว”, “ลงคอ” มีความหมายตามตัวและมีความหมายเชิงอุปมา “กินตะเกียบ” เชิงอุปมาอย่างเดียว

การใช้คำพุดตามสถานการณ์
๒๘. ข้อใดใช้คำถูกต้อง
        ๑. เธอได้รับคำชมว่าทำงานเก่งมากจนใครๆยกมือให้
        ๒. การแสดงดนตรีกว่าจะยกเลิกก็เกือบสองทุ่ม
        ๓. ผู้มีรายได้ต่ำได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
        ๔. ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีจะได้รับการยกโทษลงครึ่งหนึ่ง
เหตุผลข้อ๑ “ยกมือ” คำที่ถูกต้องคือ ยกนิ้ว
ข้อ ๒ “ยกเลิก” คำที่ถูกต้องคือ เลิก
ข้อ ๔“ยกโทษ” คำที่ถูกต้องคือ ลดโทษ

๒๙. ข้อใดใช้คำฟุ่มเฟือย
        ๑. ทหารในขบวนสวนสนามเดินอกผายไหล่ผึ่ง
        ๒. คุณยายขอให้ฉันกับญาติที่บุกรุกที่ดินเลิกแล้วต่อกัน
        ๓. ฉันต้องทนฟังเขาชี้แจงเหตุผลแม้จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
        ๔. พ่อแม่ชื่นชมปีติยินดีที่ลูกสาวสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
เหตุผลข้อ๔ พ่อแม่ชื่นชม, พ่อแม่ปีติ, พ่อแม่ยินดี เลือกใช้เพียงคำใดคำหนึ่ง
ข้อ ๑ “อกผายไหล่ผึ่ง” เป็นการใช้คำซ้อน ไม่ฟุ่มเฟือย
ข้อ ๒ “บุกรุก” เป็นการใช้คำซ้อน ไม่ฟุ่มเฟือย
ข้อ ๓“ส่วนได้ส่วนเสีย” เป็นการใช้คำซ้อน ไม่ฟุ่มเฟือย

ภาษากำกวม
๓๐. ข้อใดใช้ภาษากำกวม
        ๑. เด็กข้างบ้านวิ่งชนฉันหกล้มปากแตก
        ๒. คนขับรถถูกสั่งพักงานฐานละเลยหน้าที่
        ๓. ก๋วยเตี๋ยวปลาแบบโบราณในซอยนี้มีหลายร้าน
        ๔. พวงมาลัยแบบนี้แม่ค้าขายฉันพวงละ๑๐บาท
เหตุผลข้อ๑ เด็กข้างบ้านวิ่งชนฉันหกล้มปากแตก ไม่รู้ใครหกล้มปากแตก (ฉันหรือ เด็ก)
ข้อ ๒, ๓, ๔ ชัดเจน ไม่กำกวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น